มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ตอนที่ 2

การเก็บภาษี AD ดีจริงหรือ? มุมมองที่แตกต่างระหว่างผู้ผลิตในไทยและผู้บริโภค

ในตอนที่ 1 เราอธิบายกันไปแล้วนะคะว่า การทุ่มตลาดคืออะไร และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศอย่างไร แต่การเก็บภาษี AD นั้นดีจริงหรือ? เพราะฝั่งผู้ผลิตภายในประเทศไทยกับฝั่งผู้นำเข้า-ผู้บริโภคมีความคิดเห็นในเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน

ฝ่ายผู้ผลิตเหล็กที่อยากให้มี AD นั้นมองว่า หากไม่มี AD อุตสาหกรรมในประเทศก็ไม่สามารถแข่งขันได้ถ้าเหล็กนำเข้าราคาถูกกว่าเกินไป ซึ่งในระยะยาวมีความเป็นไปได้ว่าผลกระทบจะส่งถึงผู้บริโภคด้วย เพราะเมื่อผู้ผลิตในประเทศหายไปจากตลาด ไทยจะสูญเสียอำนาจในการควบคุมราคาเนื่องจากต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าประเภทนั้นอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อเริ่มมีสัญญาณว่าจะเกิดการทุ่มตลาดสินค้า ผู้ผลิตก็จะไปร้องขอให้กรมการค้าต่างประเทศไต่สวนเพื่อออกมาตรการมาช่วยป้องกัน

แต่ทางด้านผู้นำเข้า-ผู้บริโภคกลับรู้สึกว่า AD เป็นการคุ้มครองผู้ผลิตมากเกินไป ส่งผลให้ผู้ผลิตไม่ยอมปรับตัวหรือพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพการผลิต สวนทางกับราคาที่สูง เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องซื้อเหล็กแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรายการสินค้าที่ผู้ผลิตในประเทศมีน้อยราย เช่น รัฐออกมาตรการ AD สำหรับวัตถุดิบกลุ่มเหล็กรีดร้อนซึ่งจำเป็นต่องานเหล็กหลากหลายประเภท ขณะที่ในไทยมีผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (HRC) เพียง 3 รายเท่านั้น (2 รายมีเจ้าของเดียวกัน) และขีดความสามารถในการผลิตก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ แต่จะนำเข้าจากต่างประเทศมาทดแทนก็ติดมาตรการ AD อีก นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า อาจเกิดกรณีที่ผู้ผลิตร้องกับทางทตอ.ให้บังคับใช้ AD กับสินค้าคนละประเภทที่สามารถทดแทนสินค้าที่ตนผลิตได้เพราะกลัวเสียผลประโยชน์ส่วนตัว ผู้นำเข้า-ผู้บริโภคจึงคิดว่า การมี AD เป็นผลเสียที่ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศไม่พัฒนาให้มีความแข็งแรงสู้กับผู้ผลิตต่างชาติ

เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (Hot-rolled coil: HRC)
พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ - อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

ทั้งนี้ นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวถึงการมีมาตรการ AD ไว้ว่า “AD ไม่ควรที่จะใช้พร่ำเพรื่อ เพราะหากมีการใช้มาตรการขึ้นมาหรือมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ได้สร้างประโยชน์ตลอด supply chain ซึ่งยังมีอุตสาหกรรมกลางน้ำอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีเพราะต้องการที่จะช่วยอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ได้รับผลกระทบ

ดังนั้น ถ้าจะปกป้องตลาดในประเทศ ผู้ผลิตก็ต้องเร่งปรับตัวให้มีประสิทธิภาพที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอ และควบคุมราคาให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด ไม่ใช่พึ่งพาแต่ AD อย่างเดียว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมาตรการเยียวยาที่ออกมาแต่ละครั้งจึงจำกัดอายุไว้ที่ 5 ปี ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาได้พัฒนาตัวเอง

แล้วคุณล่ะ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร? 

แหล่งข้อมูล: ประชาชาติธุรกิจ

Scroll to Top